Posted on

วิธีป้องกันโรคเบาหวาน: คำแนะนำจากแพทย์

รายงานล่าสุดในวารสาร The Lancet เผยว่า มีผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก กำลังเผชิญกับปัญหาโรคเบาหวาน ซึ่งในปี 2022 พบว่าอัตราการเป็นเบาหวานทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 14% และมีผู้ป่วยเกือบ 60% ไม่ได้รับการรักษา การตระหนักถึงความสำคัญของโรคเรื้อรังประเภทนี้และวิธีการป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง บทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจถึงผลกระทบต่อสุขภาพและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคชนิดนี้

ผลกระทบจากโรคเบาหวาน

ดร.ลีอานา เหวิน ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน กล่าวว่าผลกระทบของโรคเบาหวานมีความรุนแรง โรคนี้เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจัดอยู่ในอันดับ 8 ในสหรัฐฯ และเป็นต้นเหตุสำคัญของโรคไตวาย โรคตาบอดในผู้ใหญ่ และการตัดอวัยะ นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานยังมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดมากกว่าผู้ที่ไม่เป็นเบาหวานถึงเกือบ 4 เท่า

ชนิดของโรคเบาหวาน

  1. เบาหวานชนิดที่ 1
    เกิดจากปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์ที่ผลิตอินซูลินในร่างกาย ผู้ป่วยต้องรับอินซูลินทุกวัน เบาหวานชนิดนี้พบมากในเด็ก และยังไม่มีวิธีป้องกันที่ชัดเจน
  2. เบาหวานชนิดที่ 2
    เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด โดยประมาณ 90%-95% ของผู้ป่วยเบาหวานในสหรัฐฯ อยู่ในกลุ่มนี้ ร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลินอย่างเหมาะสม และระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ปัจจัยเสี่ยงคือผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน ขาดการออกกำลังกาย และเกิดจากพันธุกรรม
  3. เบาหวานขณะตั้งครรภ์
    เกิดในหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่เคยป่วยด้วยเบาหวานมาก่อน แม้ว่าโรคจะหายไปหลังคลอด แต่ก็ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ทั้งในมารดาและบุตรในอนาคต

วิธีป้องกันเบาหวานชนิดที่ 2

  1. ประเมินความเสี่ยง
    ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ความเสี่ยง เช่น ตัวช่วยจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) หากมีความเสี่ยงสูง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจคัดกรอง
  2. ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต
    • ออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หากทำไม่ได้ควรเริ่มต้นจากการทำกิจกรรมเล็ก ๆ ก่อนแล้วค่อยๆ เพิ่มระดับขึ้นทีละน้อย
    • ลดการบริโภคอาหารแปรรูป และหันมารับประทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว และธัญพืช
    • รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
    • ควบคุมความดันโลหิตและระดับคอเลสเตอรอลให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ
  3. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
    การสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ประมาณ 30%-40% การเลิกสูบบุหรี่ไม่เพียงแต่จะลดความเสี่ยงนี้ แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดในผู้ป่วยเบาหวานได้อีกด้วย

การตรวจวินิจฉัยและการรักษา

การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดและการทดสอบ A1C ช่วยวัดค่าเฉลี่ยน้ำตาลในเลือดช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผู้ที่มีความเสี่ยงควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 35 ปี หรือเร็วกว่านั้นหากมีปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวข้างต้น

สำหรับผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวาน การลดน้ำหนัก การเพิ่มกิจกรรมทางกาย และการเลือกอาหารที่มีประโยชน์จะช่วยลดโอกาสที่ภาวะนี้จะพัฒนาให้กลายไปเป็นเบาหวานเต็มรูปแบบ

ผู้ป่วยเบาหวานควรให้ความร่วมมือกับแพทย์เพื่อวางแผนในการรักษาที่เหมาะสม และไม่ลืมที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในระยะยาวอีกด้วย

สรุป

การป้องกันเบาหวานต้องอาศัยความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หากคุณมีข้อสงสัยหรือความกังวล ก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำในการดูแลสุขภาพที่ดีในการที่จะดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข.