Posted on Leave a comment

ผลวิจัยล่าสุดพบว่าความเจ็บปวดหลังจากภาวะหัวใจวายมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อการเสียชีวิตในอีกแปดปีหลังจากนั้น

การศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้บ่งชี้ว่าบุคคลที่มีอาการปวดอย่างรุนแรงหนึ่งปีหลังจากหัวใจวายอาจเผชิญกับโอกาสที่จะเสียชีวิตเพิ่มขึ้นภายในแปดปีถัดไป ความถี่ของอาการหัวใจวายในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ประมาณทุกๆ 40 วินาที ตามรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา ในขณะที่โรคหัวใจรวมถึงอาการหัวใจวายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ในสหรัฐอเมริกา คนส่วนใหญ่รอดชีวิตจากอาการหัวใจวายครั้งแรกและสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ตามข้อมูลจากสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา(American Heart Association)

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม เผยให้เห็นว่าผู้ป่วยที่รายงานว่าตนเองมีอาการปวดอย่างรุนแรงหลังจากเกิดภาวะหัวใจวายในหนึ่งปี แม้ว่าความเจ็บปวดนั้นจะไม่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจก็ตาม ก็มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตมากถึงสองเท่าในช่วงของระยะเวลาการศึกษาวิจัย 8 ปี ดังนั้นทั้งแพทย์และผู้ป่วยควรเฝ้าสังเกตุอาการเจ็บปวดอย่างใกล้ชิดในช่วงหลายเดือนหลังเกิดภาวะหัวใจวาย

แม้ว่าอัตราการรอดชีวิตหลังจากหัวใจวายจะดีขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็มีงานวิจัยเพียงเล็กน้อยที่สำรวจผลกระทบของความเจ็บปวดที่เชื่อมโยงกับการเสียชีวิตหลังภาวะหัวใจวาย ในการศึกษาวิจัยนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจสอบข้อมูลสุขภาพจากผู้ป่วยโรคหัวใจวายจำนวน 18,376 รายที่มีอายุต่ำกว่า 75 ปี ซึ่งเฝ้าติดตามผ่านทะเบียนผู้ป่วยของสวีเดนระหว่างปี พ.ศ.2547-2556 ซึ่งผู้ป่วยได้กรอกแบบสอบถามเพื่อประเมินระดับความเจ็บปวดของพวกเขาในระหว่างการนัดหมายเพื่อติดตามผล แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นนั้นกินเวลานานเพียงใด

ความเจ็บปวดเป็นอาการที่พบทั่วไปของผู้ที่รอดชีวิตจากภาวะหัวใจวาย เมื่อผ่านไปสองเดือนหลังจากเกิดภาวะหัวใจวายผู้ป่วย 65% ได้รายงานว่าตนเองมีอาการปวดในระดับหนึ่งและภายในหนึ่งปี ตัวเลขนี้ได้ลดลงเป็นประมาณ 45% ที่ผู้ป่วยได้รายงานว่าตนเองมีอาการปวดปานกลางหรือรุนแรง ถึงแม้จะปวดในระดับปานกลางก็ดูเหมือนว่าจะมีความเสี่ยงสูงต่อภาวะแทรกซ้อนด้านสุขภาพที่รุนแรง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้รายงานความเจ็บปวดใดๆของตนเอง ผู้ป่วยที่รายงานความเจ็บปวดของตนในระดับปานกลางมีโอกาสสูงกว่าถึง 35% ที่จะเสียชีวิตจากทุกสาเหตุในช่วงระยะเวลาของการเฝ้าติดตามผลและที่น่าสังเกตก็คือ “ความเจ็บปวด” ดูเหมือนจะเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญของความเสี่ยงในการเสียชีวิตมากกว่าปัจจัยอื่นหรือเสี่ยงมากกว่าแม้กระทั่งการสูบบุหรี่

สำหรับความเชื่อมโยงระหว่างความเจ็บปวดกับการเสียชีวิตยังไม่มีความชัดเจนโดย ดร.จอร์จ แดนแกส(Dr.George Dangas) แพทย์โรคหัวใจแห่งโรงพยาบาลเมาท์ซินไน(Mount Sinai) และหัวหน้าแผนกโรคหัวใจแห่งเมาท์ซินไนควีน(Mount Sinai Queens) ในนิวยอร์กซิตี้ คาดการณ์ว่าความเจ็บปวดอาจเป็นสัญญาณของการอักเสบ ซึ่งเขาได้ให้ความเห็นว่าความเจ็บปวดอาจทำให้ระบบร่างกายโดยรวมแย่ลง รวมถึงผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดด้วย

นอกจากนี้ บุคคลที่รับประทานยาระงับอาการปวดอย่างรุนแรงอาจต้องเผชิญกับผลข้างเคียงที่อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ยาแก้ปวดหลายชนิดรวมถึงยาแก้ปวดที่เป็นยาตัวเลือกอื่นๆ ที่มีจำหน่ายตามหน้าเคาน์เตอร์ทั่วไปนั้นมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ ความเจ็บปวดอาจเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนวิถีชีวิตที่อาจจะช่วยลดความเสี่ยงของอาการโรคหัวใจวายได้ เช่น เป็นอุปสรรคต่อการออกกำลังกาย

ดร.แดนแกส ยังได้ตั้งข้อสังเกตอีกว่าการศึกษาใหม่นี้ควรเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้แพทย์หันมาให้ความสนใจเป็นพิเศษกับผู้ป่วยโรคหัวใจวายที่ได้แจ้งอาการเจ็บปวดของตนเอง และเขาได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการประเมินความเจ็บปวดเบื้องต้นของผู้ป่วยก่อนที่จะประเมินทางด้านการแพทย์ต่อไป

การศึกษาวิจัยเน้นกลุ่มประชากรที่เป็นผู้ป่วย 3 กลุ่มที่มีแนวโน้มที่จะรายงานอาการปวดอย่างรุนแรงของตนเอง ได้แก่ กลุ่มผู้หญิง กลุ่มคนผู้ไม่สูบบุหรี่ และกลุ่มคนผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ดร.แดนแกส แนะนำให้แพทย์อย่ามองข้ามผู้ป่วยเฉพาะรายเหล่านี้เมื่อพวกเขาได้แจ้งรายงานถึงอาการปวดอย่างรุนแรงของพวกเขา

สำหรับผู้ป่วยแล้ว การให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาการของตนเองอย่างตรงไปตรงมาให้แก่ผู้ให้บริการด้านสุขภาพรวมถึงรายงานอาการเจ็บปวดอื่นทั้งหมดด้วยนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากหลังจากเกิดภาวะหัวใจวายผู้ป่วยมักจะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ โดยจะได้รับคำแนะนำในด้านการออกกำลังกายภายใต้การดูแลของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเพื่อฟื้นฟูสุขภาพของหัวใจ รวมถึงการให้ความรู้ด้านโภชนาการ กลยุทธ์ในการลดความเครียดและการให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยเพื่อจัดการกับภาวะซึมเศร้าที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากภาวะหัวใจวาย

จากผลการศึกษาวิจัยในปี พ.ศ.2559 พบว่าการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจสามารถลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตในช่วง 5 ปีหลังจากเกิดภาวะหัวใจวายได้ประมาณ 35% โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่รอดชีวิตจากอาการหัวใจวายที่ประสบกับความเจ็บปวด ดังนั้นการเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าวจึงมีความสำคัญอย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่รอดชีวิตจากอาการหัวใจวายที่ประสบกับความเจ็บปวดนั้น การเปลี่ยนแปลงวิถีในการดำเนินชีวิตจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ตามที่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ระบุโดย ดร.ลินดา วิกซ์เนอร์ ผู้ร่วมเขียนรายงานวิจัยและรองศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยดาลานา(School of Health and Welfare, Dalarna University) เมืองฟาลุน ประเทศสวีเดน ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการลดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ ภาวะความดันโลหิตสูงและระดับคอเลสเตอรอลสำหรับผู้ป่วยที่ต้องรับมือกับความเจ็บปวด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *