
ในปัจจุบันนี้วิธีการเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นระบบการเลื่อนแบบ “ร้อยละ” หรือที่เรียกว่า “ระบบเปอร์เซ็นต์” ซึ่งมีความแตกต่างจากแบบเดิมคือระบบ “เลื่อนขั้น” สำหรับผู้ที่อยู่ในวงการศึกษาของรัฐในปัจจุบันคงจะพอทราบกันดีแล้วว่าการเลื่อนเงินเดือนแบบร้อยละที่ว่านี้มีแนวทางอย่างไร แต่เชื่อว่ามีหลายคนที่ยังไม่เข้าใจวิธีการเลื่อนแบบ “ระบบเปอร์เซ็นต์” วันนี้ แอดมินจะมาอธิบายวิธีการเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ(ประเทศไทย) ในระบบเปอร์เซ็นต์กันอย่างละเอียด โดยเฉพาะวิธีการคำนวณโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป Microsoft Excel ซึ่งมีฟังก์ชั่นต่างๆ ที่ใช้เพื่อเพิ่มความแม่นยำและช่วยย่นระยะเวลาในการคำนวณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสามารถมองเห็นจำนวนเม็ดเงินคงเหลือได้ทันที(Real time)เมื่อมีการใส่ข้อมูลเปอร์เซ็นต์ของครูที่ได้รับการเลื่อนแต่ละคน หรือแม้กระทั่ง หากมีครูคนใดมีเงินเดือนเต็มขั้น หรือใกล้จะเต็มขั้นและเมื่อคำนวณ “เปอร์เซ็นต์ที่ได้เลื่อน” บวกกับเงินเดือนแล้วมีจำนวนเงินเดือนเกินเพดาน ระบบนี้ก็จะทำการตัดเงินส่วนที่เกินนั้นไปไว้ในช่องที่เป็น “ค่าตอบแทนพิเศษ” เองโดยอัตโนมัติ
อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนแก่ผู้ที่ไม่เคยทราบมาก่อนหรือผู้ที่สนใจอยากเรียนรู้วิธีการคำนวณเพื่อเลื่อนเงินเดือนแบบเปอร์เซ็นต์ แอดมินจะขอเกริ่นนำเพียงเท่านี้ก่อน และจะได้กล่าวอธิบายถึงวิธีการในลำดับต่อไป
โดยปกติแล้วผู้ที่ทราบวิธีการคำนวณจะเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน หรือครูผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านนี้โดยตรงแต่แอดมินก็เชื่อว่ายังมีอีกหลายท่านที่ยังไม่เข้าใจและยังไม่ทราบถึงวิธีการคำนวณโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป Microsoft Excel นี้ หรืออาจจะมีบางท่านที่ยังใช้เครื่องคิดเลขและคำนวณด้วยมืออยู่ สำหรับข้าราชการครูที่ไม่ได้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็อาจจะมีหลักการคำนวณคล้ายกัน แต่แอดมินจะขอนำมาอธิบายเฉพาะในส่วนของข้าราชการครูที่อยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น โดยจะมีขั้นตอนดังนี้
1) การยืนยันตัวตน
การเลื่อนเงินเดือน (ไม่ใช้คำว่า “ขั้น”) ในแต่ละปีนั้นจะมีการเลื่อนเงินเดือน 2 ครั้ง คือ เริ่มจากการเลื่อนเงินเดือนครั้งที่ 1 จะเป็นการเลื่อนเงินเดือนโดยพิจารณาจากผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครูที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึง วันที่ 31 มีนาคม (เริ่มตามปีงบประมาณ) โดยมีการเขียนชื่อการเลื่อนว่า “การเลื่อนเงินเดือน ครั้งที่ 1 (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ…. ถึง วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ…..)” ตัวอย่างเช่น “การเลื่อนเงินเดือน ครั้งที่ 1 (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 31 มีนาคม 2566) ซึ่งก็คือการเลื่อนเงินเดือนในครั้งนี้จะเกิดขึ้น ณ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2566 นั่นเอง หมายถึง เงินเดือนใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้จะเกิดขึ้นใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2566 (เกิดจากการพิจารณาผลการปฏิบัติงาน 6 เดือนที่ผ่านมานั่นเอง)
ดังนั้น ในวันที่ 1 มีนาคม ของทุกปี สถานศึกษาจะต้องรายงาน “การยืนยันตัวตน” ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีตัวอยู่จริง ณ วันที่ 1 มีนาคม ให้แก่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ(ต้นสังกัด)เพื่อจะได้ทราบว่าในโรงเรียนนั้นๆ มีข้าราชการครูอยู่จำนวนกี่คน แต่ละคนนั้นมีเงินเดือนอยู่เท่าใด มีเลขที่ตำแหน่งอะไร รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ด้วย เช่น เลขประจำตัวประชาชน หมายเลขตำแหน่งจ่ายตรง และมีข้าราชการครูที่ไปช่วยราชการกี่คน หรือมีข้าราชการครูที่มาช่วยราชการในโรงเรียนกี่คน(การไปช่วยราชการของข้าราชการครูนั้น ตำแหน่งจะยังคงอยู่ในโรงเรียนเดิม) ก่อนที่จะมีการยืนยันตัวตนของโรงเรียนต่อสำนักงานเขตฯนั้น สำนักงานเขตพื้นที่ฯ จะมีหนังสือแจ้งให้โรงเรียนจัดทำข้อมูลเพื่อรายงาน “ยืนยันตัวตน” ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
เอกสารในการยืนยันตัวตนของสถานศึกษา ประกอบด้วย
1.1 หนังสือนำส่ง (หนังสือราชการภายนอก)
1.2 แบบฟอร์มข้อมูลข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีตัวอยู่จริง ณ วันที่ 1 มีนาคม (แบบฟอร์มจะกำหนดโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแต่จะมีข้อมูลที่สำคัญดังที่กล่าวไว้ข้างต้น)
2.แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงาน
หลังจากที่โรงเรียนได้รายงาน “การยืนยันตัวตน” ต่อสำนักงานเขตพื้นที่ไปแล้วในวันที่ 1 มีนาคม โรงเรียนหรือสถานศึกษาจะต้องมีการแต่งตั้งคำสั่งประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อประเมินผลงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งการออกคำสั่งแต่งตั้งนี้จะออกประมาณกลางเดือนมีนาคม หรือระหว่างวันที่ 15-25 มีนาคม เพื่อให้คณะกรรมการดังกล่าวได้มีเวลาในการประเมินผลงานและประมวลผลข้อมูลจากการประเมิน และคำสั่งดังกล่าวนี้จะเป็นไปตามรูปแบบที่ทางสำนักงานเขตฯได้กำหนดไว้แล้ว และโดยปกติจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วย หัวหน้าสถานศึกษาเป็นประธานกรรมการ และแต่งตั้งครูอีกจำนวน 2 คนเป็นกรรมการ
3. ประกาศกำหนดอัตราร้อยละและช่วงคะแนนประเมิน
ในการออกประกาศ “กำหนดอัตราร้อยละและช่วงคะแนนประเมิน” นี้ โรงเรียนจะออกประกาศหลังจากที่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานตามข้อ 2 แล้วก็ได้ หรือจะออกประกาศนี้พร้อมกับออกคำสั่งก็ได้ แต่โดยทั่วไปแล้วโรงเรียนจะออกประกาศกำหนดอัตราร้อยละและช่วงคะแนนประเมิน พร้อมกับออกคำสั่งแต่งตั้ง
“ประกาศกำหนดอัตราร้อยละและช่วงคะแนนประเมิน” หมายถึงอะไร
ประกาศ “กำหนดอัตราร้อยละและช่วงคะแนนประเมิน” หมายถึง หนังสือประชาสัมพันธ์ ที่ออกโดยหัวหน้าสถานศึกษาหรือผู้อำนวยการโรงเรียน เพื่อแจ้งให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนรับทราบ เกี่ยวกับช่วงของคะแนนประเมินเท่าใด จึงจะสามารถเลื่อนได้ร้อยละเท่าใด หรือจะเรียกว่า “กรอบที่จะกำหนดช่วงคะแนนประเมิน” ว่าแต่ละช่วงที่กำหนดขึ้นมานั้น จะสามารถเลื่อนได้ร้อยละเท่าใด ตัวอย่าง เช่น
– ผู้มีคะแนนประเมิน ตั้งแต่ 90-100 คะแนน สามารถเลื่อนได้ร้อยละ 3.50 – 6.00 และมีผลประเมินเป็น ระดับ “ดีเด่น”
– ผู้มีคะแนนประเมิน ตั้งแต่ 80-89.99 คะแนน สามารถเลื่อนได้ร้อยละ 3.20-3.49 และมีผลประเมินเป็น ระดับ “ดีมาก”
– ผู้มีคะแนนประเมิน ตั้งแต่ 70-79.99 คะแนน สามารถเลื่อนได้ร้อยละ 2.90-3.19 และมีผลประเมินเป็น ระดับ “ดี”
– ผู้มีคะแนนประเมิน ตั้งแต่ 60-69.99 คะแนน สามารถเลื่อนได้ร้อยละ 2.50-2.89 และมีผลประเมินเป็น ระดับ “ปานกลาง”
– ผู้มีคะแนนประเมิน ต่ำกว่า 60 คะแนน ไม่ได้รับการเลื่อนเงินเดือน และมีผลประเมินเป็น ระดับ “ไม่ผ่านการประเมิน”
ในการกำหนดช่วงคะแนน และช่วงของร้อยละที่จะใช้เลื่อนเงินเดือนนี้ ขึ้นอยู่กับผู้อำนวยการโรงเรียนหรือหัวหน้าสถานศึกษาพร้อมด้วยคณะกรรมการประเมินฯตามข้อ 2 จะเป็นผู้กำหนดช่วงของคะแนนและช่วงของร้อยละที่จะเลื่อนเงินเดือน และในการเลื่อนแต่ละครั้งของแต่ละคนนั้น จะสามารถเลื่อนได้ไม่เกินร้อยละ 6 หรือ 6% นั่นเอง
จากตัวอย่างช่วงคะแนนดังกล่าว หากข้าราชการครูคนใดมีผลคะแนนประเมิน 82 คะแนน ก็จะต้องได้เลื่อนเงินเดือนอยู่ระหว่าง 3.20 – 3.49 เท่านั้น หรือ หากข้าราชการครูคนใดมีผลคะแนนประเมิน 90 คะแนน ก็จะต้องได้เลื่อนเงินเดือนอยู่ในช่วงระหว่าง 3.50-6.00 ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการสถานศึกษาหรือผู้ที่เป็นคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานจะต้องตรวจสอบและพิจารณาโดยละเอียดเพื่อไม่ให้เกิดความคลาดเคลื่อน และที่สำคัญคือคะแนนประเมินที่ได้นั้น จะต้องสัมพันธ์กับช่วงของร้อยละที่จะใช้เลื่อน ตามกรอบที่ได้ประกาศไว้ดังกล่าว.
4. ประชุมคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงาน
หลังจากที่สถานศึกษาหรือโรงเรียนโดยผู้อำนวยการสถานศึกษาได้ประกาศ “กำหนดอัตราร้อยละและช่วงคะแนนประเมิน” และได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานในข้อที่ 2 และข้อที่ 3 แล้ว จากนั้นประมาณวันที่ 25-31 มีนาคม จะต้องมีการประชุมคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงาน(คณะกรรมการตามข้อที่ 2) ซึ่งโดยปกติผู้อำนวยการสถานศึกษาจะทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการในคณะกรรมการชุดดังกล่าว ซึ่งในการประชุมจะมีการดำเนินการตามระเบียบวาระการประชุม ดังนี้
ระเบียบวาระที่ 1 เรื่อง ประธานแจ้งให้ทราบ จะเป็นการแจ้งข้อมูลจากผู้อำนวยการโรงเรียน(ประธานกรรมการประเมินฯ)ให้กรรมการได้ทราบเกี่ยวกับจำนวนเงินเดือนของครูทั้งหมดรวมกันทั้งโรงเรียนเป็นเท่าใด และโรงเรียนได้รับการจัดสรรเม็ดเงินที่จะใช้เลื่อนเงินเดือนให้แก่ครูเป็นร้อยละเท่าใด (ซึ่งแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาจะมีคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรวงเงินเลื่อนเงินเดือนครูของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งจะมีการจัดสรรวงเงินมาให้แก่โรงเรียนในอัตราแตกต่างกันโดยสำนักงานเขตพื้นที่ฯจะมีหนังสือแจ้งจัดสรรวงเงินให้โรงเรียนทราบช่วงประมาณปลายเดือนมีนาคม หรือระหว่างวันที่ 25-31 มีนาคม) ตัวอย่างเช่น โรงเรียนบ้านกอไก่ มีข้าราชการครู(สายผู้สอน) ทั้งสิ้นจำนวน 12 คน มีเงินเดือนรวมกันทั้งสิ้นเท่ากับ 346,200 บาท และได้รับแจ้งจัดสรรวงเงินที่จะใช้เลื่อนเงินเดือนให้แก่ข้าราชการครู จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเอบีซี(ต้นสังกัด) จำนวนร้อยละ 2.96 นั่นก็หมายความว่า โรงเรียนบ้านกอไก่จะมี “เม็ดเงิน” ที่จะใช้เลื่อนเงินเดือนให้แก่ครูสายผู้สอน(รวม รอง ผอ.โรงเรียน) เท่ากับ 10,247.52 บาท หรือ ร้อยละ 2.96 ของจำนวนเงินเดือนรวมกันทั้งสิ้นคือ 346,200 นั่นเอง
หลังจากประธานในที่ประชุมได้แจ้งจำนวนเงินเดือนรวมทั้งสิ้นและแจ้งจำนวนเม็ดเงินที่จะใช้เลื่อนในรอบนี้แล้ว ประธานก็อาจจะแจ้งข้อมูลอื่นๆเพิ่มเติมก็ได้ เช่น ข้อมูล การเลื่อนเงินเดือนของแต่ละคนในรอบที่ผ่านมา หรือในรอบหลายปีที่ผ่านมาเป็นต้น
ระเบียบวาระที่ 2 เรื่อง รับรองรายงานการประชุมครั้งที่แล้ว(หรือครั้งที่ …../25… เมื่อวันที่…… เดือน……พ.ศ…..)
เป็นการรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ผ่านมาของการประชุมคณะกรรมการประเมินผลฯ โดยปกติแล้วจะรับรองทั้งหมด
ระเบียบวาระที่ 3 เรื่อง เสนอเพื่อทราบ หมายถึงการเปิดโอกาสให้กรรมการแต่ละคนได้เสนอข้อมูลที่ตนมีอยู่ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับการประชุมครั้งนี้หรือไม่ก็ได้ เพื่อแจ้งให้ทุกคนในที่ประชุมได้รับทราบแต่จะไม่ใช่การพิจาณาหรือไม่ใช่การการขอมติเห็นชอบแต่อย่างใด
ระเบียบวาระที่ 4 เรื่อง เสนอเพื่อพิจารณา และนี่คือระเบียบวาระสำคัญที่จะดำเนินการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นการพิจารณาร่วมกันของคณะกรรมการประเมินฯ และจะต้องมีมติเห็นชอบร่วมกัน ว่าข้าราชการครูแต่ละคนนั้นมีคะแนนประเมินเท่าใด ประกอบด้วยข้อมูลผลการประเมินของแต่ละคน การเรียงลำดับคะแนน และอัตราร้อยละที่สมควรจะได้รับการเลื่อนควรเป็นเท่าใด (โดยปกติแล้วโรงเรียนจะได้รับหนังสือที่เป็นเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงาน หรือตัวชี้วัดการประเมินจากสำนักงานเขตพื้นที่ฯ มาก่อนแล้วช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์หรือช่วงต้นเดือนมีนาคมของทุกปี) ซึ่งขั้นตอนนี้จำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมาช่วยในการคำนวณโดยแอดมินจะได้กล่าวถึงในลำดับต่อไปนี้
การคำนวณร้อยละในการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการครูด้วย Microsoft Excel
กำหนดตารางข้อมูลและใส่ข้อมูลเงินเดือนของข้าราชการครู ซึ่งเป็นตารางข้อมูลเดียวกับตารางที่โรงเรียนได้รายงาน “ยืนยันตัวตน” ให้แก่สำนักงานเขตพื้นที่ไปแล้วก่อนหน้านั้น (วันที่ 1 มีนาคม) แต่ให้เพิ่มคอลัมน์ หรือแทรกคอลัมน์เพิ่มเติม ดังตัวอย่างตารางต่อไปนี้ (ขอย้ำว่าผู้ที่ปฏิบัติงานจะต้องมีทักษะในการใช้งาน Microsoft Excel มาบ้างเล็กน้อย)

จากภาพดังกล่าวจะพบว่า “เม็ดเงินที่ได้รับจัดสรร(ร้อยละ)” คือ 2.98 นั่นหมายความว่าโรงเรียนนี้ (สมมติชื่อโรงเรียนบ้านกอไก่คอนแว่น) ได้รับจัดสรรวงเงินจากสำนักงานเขตพื้นที่ให้คิดเม็ดเงินเพื่อเลื่อนเงินเดือนครั้งนี้ เท่ากับ 2.98% ดังนั้น ก็ให้พิมพ์ตัวเลข 2.98 ลงไปในเซลล์ C3 ดังภาพ (แถวที่ 3 สดมภ์ที่ C) จากภาพที่เห็นโรงเรียนบ้านกอไก่คอนแว่น มีครูทั้งหมด 6 คน และข้อมูลที่ปรากฏนี้ จะพิมพ์ลงไปใหม่ก็ได้หรือจะใช้วิธีการดึงข้อมูลมาจาก Sheet ที่มีข้อมูลนี้อยู่ก่อนแล้วก็ได้ ซึ่งก็คือ Sheet ที่โรงเรียนได้พิมพ์ข้อมูล “ยืนยันตัวตน” เพื่อรายงานให้สำนักงานเขตพื้นที่ฯ ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมนั่นเอง
แอดมินสมมติว่า ในไฟล์ Excel ที่กำลังพิมพ์อยู่นี้(ดังภาพข้างบน) มี Sheet อยู่จำนวน 2 Sheet ก็แล้วกันครับ
1.Sheet ที่ 1 ตั้งชื่อ Sheet ว่า “Confirm_person” เป็น Sheet ที่เก็บข้อมูลครูทั้งหมดและข้อมูลเงินเดือน ที่ใช้รายงาน “ยืนยันตัวตน” ครูให้แก่สำนักงานเขตพื้นที่ฯ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม นั่นเอง (ข้อมูลครูจะประกอบด้วย ชื่อ-สกุล ตำแหน่ง อันดับ วิทยฐานะ เงินเดือน ฯลฯ)
2.Sheet ที่ 2 ตั้งชื่อ Sheet ว่า “Calculate” ซึ่งก็คือ Sheet ที่ปรากฎดังภาพข้างบนนี้เอง
ดังนั้น เมื่อเรามีข้อมูลพื้นฐานอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องพิมพ์ใหม่ เพื่อป้องกันการพิมพ์ผิดพลาด ก็ใช้วิธีดึงข้อมูลจาก Sheet ที่มีข้อมูลอยู่แล้ว ซึ่งก็คือ Sheet ที่ชื่อว่า “Confirm_person” จากภาพข้างบนให้เอาเมาท์ไปคลิกที่เซลล์ B5 (ซึ่งก็คือชื่อครูคนที่ 1 ที่เราจะพิมพ์ใส่นั่นเอง ก็คือครู Mrs.Anniry J. Lorennal) จากนั้นให้พิมพ์เครื่องหมาย = (ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธี)
เมื่อพิมพ์เครื่องหมาย = แล้วให้เอาเมาท์ไปคลิกที่แถบที่เป็นชื่อ Sheet ซึ่งก็คือ “Confirm_person” เมื่อคลิกแล้วจอภาพจะพาเราไปที่ Sheet ที่ชื่อ “Confirm_person” นั่นเอง จากนั้นก็ให้คลิกที่ชื่อครูคนที่ 1 ที่เราต้องการดึงข้อมูลมา (คลิกที่เซลล์ที่มีชื่อครูคนที่ 1) เมื่อคลิกแล้ว ก็กดปุ่ม Enter
เมื่อกด Enter แล้วจอภาพจะสลับกลับมาที่ Sheet ที่เราพิมพ์เครื่องหมาย = ซึ่งก็คือ “Calculate” นั่นเอง และจะพบว่าชื่อครู Mrs.Anniry J. Lorennal ปรากฏขึ้นในเซลล์ B5 ทันที
และอีกวิธี คือวิธีที่ 2 ก็คือการพิมพ์ตัวอักษร ในเซลล์ B5 ของ Sheet “Calculate” ดังนี้
=confirm_person!B3
จากการพิมพ์สูตรดังกล่าว หมายถึงให้ดึงข้อมูลมาจากเซลล์ B3 ของ Sheet ที่ชื่อ confirm_person ให้มาปรากฏขึ้นที่เซลล์ B5 ของ Sheet “calculate” นั่งเอง และสำหรับชื่อครูคนที่ 2,3,4…. หรือที่เป็นบรรทัดถัดลงมาก็สามารถ copy สูตรลงมาวางด้านล่างได้เลย
สำหรับการดึงข้อมูลเซลล์อื่นๆ มาไว้ที่ Sheet นี้ ก็ให้ทำแบบเดียวกันนี้ได้เลย รวมถึงข้อมูลสดมภ์ “เงินเดือน” ก็เช่นเดียวกัน
เมื่อดึงข้อมูลจาก Sheet ที่ชื่อ confirm_person มาครบแล้ว (ดังภาพตัวอย่างข้างต้น) ก็ให้รวมเงินเดือนทั้งหมด โดยใช้ฟังก์ชั่น SUM( ) ดังนี้
จากภาพตัวอย่างให้คลิกเมาท์ที่เซลล์ F11 (แถวที่ 11 สดมภ์ที่ F) ที่ซึ่งเราจะให้เกิดผลรวมเงินเดือนทั้งหมดนั่นเอง ดังนี้
=SUM(F5:F10)
หมายถึงให้รวมค่าตัวเลขตั้งแต่แถวที่ 5 ถึงแถวที่ 10 ของสดมภ์ที่ F นั่นเอง ผลลัพธ์ที่ได้คือ 306,690 บาท ดังภาพข้างบน
จากนั้น ให้มาพิมพ์สูตรในเซลล์ “คิดเป็นเม็ดเงินทั้งสิ้น” (สีเหลือง หรือเซลล์ C4) เพื่อคำนวณเม็ดเงินที่จะใช้เลื่อนครั้งนี้ ก็คือ 2.98% โดยพิมพ์ฟังก์ชั่นในเซลล์ C4 ดังนี้
=(F11*C3) / 100
ดังนั้น ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ “คิดเป็นเม็ดเงินทั้งสิ้น” ที่จะใช้เลื่อนเงินเดือนให้ครูได้ครั้งนี้ คือ 9,139.36 บาท นั่นเอง
จากนั้น ให้ไปใส่สูตรในเซลล์ L11 เพื่อรวม “รวมเม็ดเงินที่ใช้เลื่อนครั้งนี้” (ช่องสีฟ้า) ดังนี้
=SUM(L5:L10)
ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ ไม่มี เพราะว่าขณะนี้เรายังไม่มีข้อมูลใดๆในสดมภ์ L ซึ่งจะได้อธิบายในลำดับต่อไป
จากนั้น ให้พิมพ์สูตรในช่องสีส้ม หรือเซลล์ C12 (ด้านหลัง คำว่า “เม็ดเงินคงเหลือส่งคืน =”) เพื่อคำนวณเม็ดเงินคงเหลือที่จะส่งคืนไปยังสำนักงานเขตพื้นที่ฯ ดังนี้ (ซึ่งก็คือเม็ดเงินทั้งสิ้น ลบด้วยเม็ดเงินที่ใช้เลื่อนไปครั้งนี้นั่นเอง)
=C4 – L11
ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ 9,139.36 บาท (เหลือเท่าเดิมเพราะว่า ณ ขณะนี้ยังไม่มีการใช้เม็ดเงินเพื่อเลื่อนเงินเดือนแต่อย่างใด หรือหมายถึง ในบรรทัดที่ 5 ถึงบรรทัดที่ 10 ของสดมภ์ที่ L ยังไม่มีตัวเลขใดๆ)
ฟังก์ชั่น IF( )
ฟังก์ชั่น if( ) เป็นฟังก์ชั่นที่สำคัญอย่างมากในการใช้เพื่อตั้งเงื่อนไขสำหรับคำนวณเลื่อนเงินเดือนข้าราชการครูด้วย Microsoft Excel ดังนั้นเรามาเริ่มใช้ฟังก์ชั่นนี้กันเลย โดยเริ่มที่เซลล์ H5 หรือ สดมภ์ “ฐานคำนวณ” เพื่อกำหนดเงื่อนไขให้ Excel แสดงค่าตามที่เราต้องการ เช่น ถ้าหากครูคนใดมีอันดับ เป็น ครู ค.ศ.3 และมีเงินเดือนตั้งแต่ 40,280 บาท ถึง 58,390 บาท ก็ให้แสดงค่าที่เป็น “ฐานคำนวณ” ปรากฏขึ้นที่เซลล์ H5 เป็น 49,330 บาท เป็นต้น โดยให้พิมพ์สูตรและฟังก์ชั่นลงในเซลล์ H5 ดังนี้
=IF(E5=”ค.ศ.5″,IF(F5>=60840,68560,60830),IF(E5=”ค.ศ.4″,IF(F5>=50330,59630,50320),IF(E5=”ค.ศ.3″,IF(F5>=40280,49330,37200),IF(E5=”ค.ศ.2″,IF(F5>=30210,35270,30200),IF(E5=”ค.ศ.1″,IF(F5>=24890,29600,22780),IF(E5=”ครูผู้ช่วย”,IF(F5>=19910,22330,17480),””))))))
จากฟังก์ชั่นดังกล่าวนี้ จะสังเกตได้ว่า วงเล็บปิดตอนท้ายจะมีอยู่ 6 วงเนื่องจากเราใช้ฟังก์ชั่น IF( ) ตรวจสอบค่า จำนวน 6 ค่านั่นเองก็คือตรวจสอบค่าของ อันดับตั้งแต่อันดับ “ค.ศ.5” ไล่ลงมาจนถึงล่างสุดคือ อันดับ “ครูผู้ช่วย” นั่นเอง ซึ่งฟังก์ชั่นนี้สามารถซ้อนกันได้หลายๆชั้น โดยเริ่มจากการตรวจสอบค่าสูงก่อน แล้วค่อยไล่ตรวจสอบลงมาหาค่าที่ต่ำกว่า ดังตัวอย่างนี้
=IF(E5=”ค.ศ.5″,IF(F5>=60840,68560,60830), xxx)
จากตัวอย่างนี้ ฟังก์ชั่น if( ) จะมี 3 ส่วน คือ
1. ส่วนที่ตรวจสอบเงื่อนไง
2. ส่วนที่ให้ Excel ทำ เมื่อเงื่อนไข เป็นจริง
3. ส่วนที่ให้ Excel ทำ เมื่อเงื่อนไข เป็นเท็จ
ซึ่งทั้งสามส่วนนี้ จะคั่นด้วยเครื่องหมาย , (comma)
จากตัวอย่าง อธิบายได้ว่า ถ้าค่าในเซลล์ E5 เท่ากับ ค.ศ.5 จริงหรือไม่ ถ้าจริงก็ถามต่อว่า ค่าในเซลล์ F5 (ซึ่งก็คือเงินเดือน) มีค่าตั้งแต่ 60,840 บาทขึ้นไป หรือไม่(เครื่องหมาย >= อ่านว่า มากกว่าหรือเท่ากับ) ถ้าเงินเดือนในเซลล์ F5 มีค่าตั้งแต่ 60,840 บาทขึ้นไปจริง ก็ให้พิมพ์ตัวเลข 68,560 ลงไปในเซลล์ H5 (ฐานคำนวณ) แต่ถ้าเงินเดือนในเซลล์ F5 น้อยกว่า 60,840 บาท (เป็นเท็จ) ก็ให้พิมพ์ตัวเลข 60,830 แทน
ตัวอย่างที่กล่าวนี้หมายถึง ค่าในเซลล์ E5 เท่ากับ “ค.ศ.5” เท่านั้น แต่หากค่าในเซลล์ E5 ไม่เท่ากับ “ค.ศ.5” Excel ก็จะกระโดดข้ามมาทำในส่วนที่เป็น xxx แทน ซึ่งส่วนที่เป็น xxx นี้ก็คือส่วนที่ 3 นั่นเอง และส่วนนี้ก็สามารถแทรกฟังก์ชั่น IF( ) ซ้อนเข้าไปอีกหลายๆชั้นได้ ซึ่งก็จะเป็นการตรวจสอบค่าในเซลล์ E5 ต่อไปว่าเท่ากับ “ค.ศ.4” จริงหรือไม่ ดังตัวอย่างก่อนหน้า
คิดเปอร์เซ็นต์ที่จะเลื่อนก่อนปัดเศษ
การคิดเงินเปอร์เซ็นต์ที่จะเลื่อนก่อนที่จะมีการปัดเศษนี้ หมายถึง การคิดเงินเปอร์เซ็นต์จากเปอร์เซ็นต์ที่ได้ในเซลล์ G5 คูณกับ “ฐานคำนวณ” ในเซลล์ H5 แล้วหารด้วย 100 ดังนั้นให้พิมพ์สูตรในเซลล์ I5 (เซลล์ไอ5) ดังนี้
=(H5 * G5) / 100
อธิบายได้ว่า H5 คือ ค่าที่เป็น ค่า “ฐานคำนวณ” ส่วน G5 ก็คือค่า ที่เป็น ค่า ตัวเลขเปอร์เซ็นต์ที่ครูคนนั้นได้รับ ซึ่งเกิดจากการพิมพ์ตัวเลขที่เป็นค่าเปอร์เซ็นต์ว่าแต่ละคนจะได้เท่าใด และโดยปกติผู้อำนวยการโรงเรียนจะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่กรอก ซึ่งสามารถพิมพ์แก้ได้โดยการพิมพ์ทับ เพื่อปรับให้เพิ่มขึ้นหรือปรับลดก็ได้ขึ้นอยู่กับจำนวน “เม็ดเงินคงเหลือส่งคืน” ที่ปรากฏในช่องสีส้ม ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนสามารถดูได้ตลอดเวลาในขณะที่ใส่ค่าเปอร์เซ็นต์ของแต่ละคนลงในเซลล์ G5 นั่นเอง หมายถึงจะมีการตัดยอดตัวเลขเม็ดเงินทุกครั้งและแสดงผลแบบทันทีนั่นเอง
ฟังก์ชั่น ROUNDUP( ) ใช้เพื่อปัดเศษจำนวนเงินให้เต็มหลักสิบจากการคิดเปอร์เซ็นต์ที่จะใช้เลื่อนเงินเดือน
หลังจากการคิดเปอร์เซ็นต์ที่จะใช้เลื่อนเงินเดือนก่อนปัดเศษ ในหัวข้อที่ผ่านมานั้นแล้ว ก็จะต้องมีการปัดเศษของจำนวนเงินที่คิดได้เพื่อใช้เลื่อนให้เต็มหลักสิบ เช่น ในหัวข้อที่แล้วคิดเปอร์เซ็นต์ก่อนปัดเศษได้เท่ากับ 1572.34 บาท ตามหลักการเลื่อนเงินเดือนจะต้องปัดเศษที่มีอยู่ขึ้นไปให้เต็มหลักสิบ ก็คือ เป็นเงิน 1580 บาท ซึ่งฟังก์ชั่น Roundup( ) นี้จะใช้ทำหน้าที่ปัดเศษจำนนวนเงินที่มีให้ขยับขึ้นเพื่อเต็มหลักสิบ
แต่เนื่องจากมีข้าราชการครูบางคนที่มีเงินเดือนเต็มขั้นหรือบางคนใกล้ๆจะเต็มขั้น(69,040 บาท) ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ ครู ที่มีอันดับ ค.ศ.3 หรือมีวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ แต่มีเงินเดือนเกินขั้นสูงของอันดับ ค.ศ.3 (เกิน 58,390 บาท) พูดง่ายๆ ก็คือ เงินเดือนสไลด์ไปอยู่ในส่วน ค.ศ.4 แต่ยังมีอันดับเป็น ค.ศ.3 อยู่ และมีเงินเดือนใกล้ๆจะถึง 69,040 บาท หรือมีบางคนเงินเดือนเกิน 69,040 ไปแล้วก็มี (ซึ่งครูคนนั้นยังเป็นครูอันดับ ค.ศ.3 อยู่) ดังนั้น จึงจะต้องใช้ฟังก์ชั่น IF( ) ทำหน้าที่ตรวจสอบกรณีดังที่กล่าวมาว่า ถ้าครูคนนั้นๆ ได้เลื่อนเงินเดือนครั้งนี้ ซึ่งก็คือ เอาเงินเดือนปัจจุบัน บวกกับเงินเปอร์เซ็นต์ที่คิดได้ก่อนที่จะปัดเศษ ว่ามีจำนวนมากกว่า 69,040 บาทหรือไม่ ถ้าหากเกินจำนวนเงินส่วนที่เกินนั้นจะต้องตัดไปอยู่ในส่วนของ “ต่าตอบแทน” และจะไม่มีการปัดเศษขึ้นแต่อย่างใด พูดง่ายๆ ก็คือ หากได้เลื่อนเงินเดือนครั้งนี้แล้วเมื่อคำนวณแล้วปรากฎว่ามีเงินเดือนเกิน 69,040 บาท ก็แสดงว่าครูคนนั้นจะได้เป็นค่าตอบแทนในส่วนที่เกินนั้น คือ ไม่สามารถเลื่อนเงินเดือนขึ้นได้อีกนั่นเอง หรือที่เรียกว่า “เงินเดือนเต็มขั้น” นั่นเอง ความจริงแล้วคำว่า “เต็มขั้น” นั่นเป็นคำที่ใช้เรียกเงินเดือนเต็มเพดานที่ไม่สามารถเลื่อนขึ้นได้อีกในระบบขั้นแบบเดิมนั่นเอง
ดังนั้น จากภาพตารางข้างต้น ให้พิมพ์สูตรลงไปเซล์ แต่ละเซลล์ ดังนี้
ในเซลล์ J5 (เงินเลื่อนปัดเศษ) ใส่สูตรดังนี้
=IF((F5+I5)>69040,I5-((F5+I5)-69040),ROUNDUP(I5,-1))
จากสูตรเป็นการตรวจสอบโดยใช้ฟังก์ชั่น IF( ) ว่า ถ้าเอาเงินเดือนปัจจุบัน ณ วันที่ 1 มีนาคม บวกกับเงิน “เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับเลื่อนก่อนปัดเศษ” (หมายถึงมีเศษเทศนิยมมาด้วย) แล้วถ้าเกิน 69,040 บาท (เงื่อนไขเป็นจริง) ก็ให้เอาผลรวมของเงินเดือนที่คิดได้ก่อนปัดเศษนี้มาลบออกด้วยส่วนที่เกิน 69,040 บาท แล้วก็ให้แสดงผลลงในเซลล์ J5 เลยทันที และไม่ต้องปัดเศษใดๆเลย เพราะว่าเมื่อนำไปรวมกับเงินเดือน ณ ปัจจุบัน ก็จะเท่ากับ 69,040 บาทพอดีและไม่สามารถเลื่อนขึ้นได้อีกเนื่องจากเต็มเพดานแล้ว (เงื่อนไขเป็นจริง)
แต่ถ้าเงื่อนไขเป็นเท็จ คือหมายความว่า เมื่อเอาเงินเดือน ณ ปัจจุบัน บวกกับเงิน “เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับเลื่อนก่อนปัดเศษ” เข้าไปแล้ว ปรากฏว่าไม่เกิน 69,040 บาท ก็ให้นำค่าตัวเลข(รวมเศษมาด้วย)ในเซลล์ I5 มาแสดงผลในเซลล์ J5 นี้ได้เลยทันทีแต่ปัดเศษขึ้นให้เต็มหลักสิบด้วยฟังก์ชั่น ROUNDUP( ) โดยใส่ค่าพารามิเตอร์เป็น -1 หมายถึงปัดเศษใดๆขึ้นให้เต็มหลักสิบนั่นเอง
ในเซลล์ K5 (ค่าตอบแทนพิเศษ) ใส่สูตรดังนี้
=IF((F5+I5)>69040,(F5+I5)-69040,”0″)
หมายถึง ถ้ารวมเงินเดือน ณ ปัจจุบันเข้ากับ “เงินเปอร์เซ็นต์ที่ได้รับเลื่อนก่อนปัดเศษ” แล้ว ปรากฏว่าเกิน 69,040 บาท ก็ให้นำ 69,040 มาลบออกแล้วก็ให้แสดงผลส่วนที่เหลือนั้นขึ้นมาในเซลล์ K5 นี้โดยที่ไม่ต้องปัดเศษใดๆ เพราะว่าเงิน “ค่าตอบแทนพิเศษ” นี้จะไม่สามารถปัดเศษขึ้นให้เต็มหลักสิบได้
ในเซลล์ L5 (รวมเม็ดเงินที่ใช้เลื่อน) ใส่สูตรดังนี้
=J5+K5
ในเซลล์ M5 (เงินเดือนใหม่) ใส่สูตรดังนี้
=F5+J5
ในเซลล์ O5 (“ระดับ” ของผลการประเมิน) ใส่สูตรดังนี้
=IF(N5>=90,”ดีเด่น”,IF(N5>=80,”ดีมาก”,IF(N5>=70,”ดี”,IF(N5>=60,”พอใช้”,”ไม่ได้เลื่อน”))))
สูตรในเซลล์ O5 นี้(“ระดับ” ของผลการประเมิน) แอดมินจะไม่ขออธิบายเนื่องจากมีลักษณะเช่นเดียวกับสูตรที่ใช้ตัดเกรดผลการเรียนทั่วๆไปซึ่งไม่ได้มีความซับซ้อนมากนัก
ดังนั้น เมื่อเราพิมพ์สูตรและฟังก์ชั่นลงในแถวที่ 5 ครบตามที่แอดมินได้บอกมาแล้ว ก็สามารถ Copy สูตรในบรรทัดที่ 5 (ซึ่งจะมีสดมภ์ต่างๆ) ลงมาแถวที่ 6,7,8…ต่อลงมาได้เลย
จากนั้น ก็เป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการโรงเรียน หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการ ก็จะต้องกรอก “เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับการเลื่อน” และกรอก “คะแนน” จะสังเกตได้เลยว่าเมื่อใส่ค่า “เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับการเลื่อน” แล้วกดปุ่ม Enter ผลลัพธ์จะปรากฏขึ้นทันทีและมีการตัดจำนวนเม็ดเงินทันที ซึ่งสามารถรู้ได้เลยว่าเม็ดเงินมีอยู่เท่าใด เหลือมากน้อยเพียงใด หรือติดลบเท่าใด
ดังนั้น ผู้อำนวยการโรงเรียนก็สามารถปรับแก้ค่าตัวเลขเปอร์เซ็นต์ของแต่ละคนได้เลย ซึ่งมีความยืดหยุ่นและสามารถมองเห็นภาพเม็ดเงินได้ทันที (มองเห็นในเซลล์ C12 สีส้ม)
เมื่อใส่ข้อมูลลงในตารางคำนวณ (Sheet ที่ชื่อว่า “calculate”) ครบทุกส่วนที่แอดมินได้อธิบายดังที่กล่าวมาแล้วนั้นข้อมูลจะปรากฏดังภาพต่อไปนี้

จากตารางที่แอดมินได้กล่าวมานี้ (Sheet ชื่อ “calculate”) ผู้อำนวยการโรงเรียนหรือผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ จะกรอกข้อมูลหรือพิมพ์ข้อมูลลงในช่องสดมภ์ที่เป็น “ได้เลื่อนร้อยละ” และช่องสดมภ์ “คะแนน” เพียง 2 ช่องนี้เท่านั้น
และในส่วนที่เป็น “ชื่อ-สกุล” “ตำแหน่ง” “วิทยฐานะ” “อันดับ” และ “เงินดือน 1 มี.ค.66” จะดึงมาจาก Sheet ที่ได้พิมพ์ไว้แล้วจากการทำข้อมูลเพื่อรายงาน “ยืนยันตัวตน” ให้แก่สำนักงานเขตพื้นที่ฯ เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่มีอยู่ก่อนแล้ว โดยที่ไม่ต้องพิมพ์ใหม่ซ้ำเพื่อป้องกันความผิดพลาด
สรุป คือ ผู้อำนวยการโรงเรียนหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่จะกรอกข้อมูลลงใหม่ก็เฉพาะใน สดมภ์ “ได้เลื่อนร้อยละ” และ สดมภ์ “คะแนน” เพียง 2 สดมภ์นี้เท่านั้น
5.การจดรายงานการประชุม (ระเบียบวาระที่ 4 เรื่องเสนอเพื่อพิจารณา)
ในการจดบันทึกรายงานการประชุมนั้น จะมีหัวข้อหลักหรือที่เรียกในภาษาราชการว่า ระเบียบวาระการประชุม ปกติแล้วจะมีอยู่ 5 ระเบียบวาระ โดยเริ่มจากระเบียบวาระที่ 1 เป็นเรื่องประธานที่ประชุมแจ้งให้ที่ประชุมทราบ ระเบียบวาระที่ 2 คือเรื่องรับรองรายงานการประชุมครังที่แล้ว ระเบียบวาระที่ 3 คือเรื่องเสนอเพื่อทราบ ซึ่งแอดมินได้กล่าวอธิบายไว้ข้างต้นของบทความแล้ว ระเบียบวาระที่ 4 คือ เรื่องเสนอเพื่อพิจารณา เป็นส่วนที่ต้องเขียนรายละเอียดข้อมูลการเลื่อนเงินเดือน ซึ่งสามารถนำข้อมูลจากตารางคำนวณในหัวข้อที่ได้อธิบายไว้ในหัวข้อที่ 4 ที่ผ่านมานี้ โดยเป็นการนำข้อมูลที่ได้จากตารางคำนวน(Sheet “calculate”) มาบันทึกในลักษณะการเขียนรายงานการประชุมของคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อเสนอขอเลื่อนเงินเดือนต่อสำนักงานเขตพื้นที่ฯ ซึ่งรูปแบบการจดรายงานการประชุมนั้น หากเป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ธุรการ หรือผู้ที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนก็ย่อมทราบดีอยู่แล้ว แอดมินจะไม่ขอนำมาอธิบายตรงนี้ และสุดท้ายคือ ระเบียบวาระที่ 5 คือ เรื่องอื่นๆ(ถ้ามี)
6.การพิมพ์แบบฟอร์ม “บัญชีรายละเอียดเสนอขอเลื่อนเงินเดือน”
ในการสร้างแบบฟอร์มบัญชีรายละเอียดเสนอขอเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น โดยทั่วไปแล้วแต่ละเขตพื้นที่ฯจะมีแบบฟอร์มส่งมาให้แก่โรงเรียนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ หรือช่วงต้นเดือนมีนาคม และแบบฟอร์มที่ใช้แต่ละครั้งก็จะมีรูปแบบคล้ายกัน ซึ่งเมื่อโรงเรียนได้รับแบบฟอร์มจากสำนักงานเขตพื้นที่ฯมาแล้วก็สามารถนำมาสร้างเป็น แบบฟอร์ม เพิ่มต่อจาก Sheet ที่ได้สร้างไว้แล้วก่อนหน้า คือ Sheet ที่ชื่อ Confirm_person และ Sheet ที่ชื่อ Calculate ซึ่งข้อมูลใน “บัญชีรายละเอียดเสนอขอเลื่อนเงินเดือน” นี้ ก็คือข้อมูลอันเดียวกับที่เราได้สร้างไว้แล้ว ดังที่แอดมินได้กล่าวมาแล้วนั่นเองเพียงแต่อาจจะมีรูปแบบสดมภ์หรืออาจจะมีลำดับของสดมภ์ที่เรียงสลับกันเท่านั้นเอง
ดังนั้น เราก็สามารถดึงข้อมูลจาก Sheet ก่อนหน้าที่ว่ามานั้นโดยสามารถดึงข้อมูลแต่ละสดมภ์ให้มาลงใน แบบฟอร์มใหม่ หรือ Sheet ใหม่ที่สร้างขึ้นก็คือ “บัญชีรายละเอียดเสนอขอเลื่อนเงินเดือน” ได้เลย โดยที่ไม่ต้องพิมพ์ใหม่ใดๆเลย (เพื่อลดความผิดพลาด และลดเวลาในการทำงานลง) ซึ่งวิธีการดึงข้อมูลก็สามารถดูได้จากช่วงต้นๆของบทความที่แอดมินได้อธิบายไว้แล้ว
ส่วนใหญ่แล้วแบบฟอร์ม “บัญชีรายละเอียดเสนอขอเลื่อนเงินเดือน” จะมีลักษณะดังนี้

7. การนำส่ง “บัญชีรายละเอียดเสนอขอเลื่อนเงินเดือน” ต่อสำนักงานเขตพื้นที่ฯ
หลังจากที่ได้มีการจัดทำ “บัญชีรายละเอียดเสนอขอเลื่อนเงินเดือน” ดังที่แอดมินได้กล่าวมาทั้งหมดแล้ว โรงเรียนก็จะต้องนำส่งข้อมูลทั้งหมดต่อสำนักงานเขตพื้นที่ฯ โดยปกติแล้วโรงเรียนจะต้องนำส่งไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม เป็นอย่างช้า ซึ่งโดยปกติจะมีรายการที่จะต้องนำส่ง ดังนี้
1.หนังสือนำส่ง (หนังสือราชการภายนอก)
2.คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงาน
3.ประกาศกำหนดอัตราร้อยละและช่วงคะแนนประเมิน
4.บัญชีรายละเอียดเสนอขอเลื่อนเงินเดือน
5.บัญชีสรุปรายละเอียดการเลื่อนเงินเดือน (ซึ่งสามารถสร้างแบบฟอร์มตามที่สำนักงานเขตพื้นที่ฯได้ออกแบบมาให้ และสามารถดึงข้อมูลมาปรากฏในตารางแบบฟอร์มนี้ได้โดยที่ไม่ต้องพิมพ์ใหม่ และเป็นข้อมูลที่มีอยู่แล้วใน “บัญชีรายละเอียดเสนอขอเลื่อนเงินเดือน”)
6.สำเนา “่รายงานการประชุมคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงาน” และ
7.บัญชีสำรวจวันลาของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
จากการที่แอดมินได้อธิบายถึงรายละเอียดและวิธีการคำนวณเพื่อเลื่อนเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยการใช้โปรแกรม Microsoft Excel ซึ่งได้อธิบายไปแล้วทั้งหมด 7 หัวข้อที่ผ่านมานั้น แอดมินหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยต่อผู้ที่สนใจจะศึกษา หรือผู้อำนวยการโรงเรียน รวมถึงข้าราชการครู สายผู้สอนที่ต้องการทราบถึงวิธีการดังกล่าว หากท่านใดมีความคิดเห็นที่จะเสนอแนะต่อบทความนี้ก็สามารถ comment แนะนำได้ครับ
Coohfey Admin

ดูโปรโมชั่นล่าสุดของ Samsung Galaxy Z Flip 5
ดูโปรโมชั่นล่าสุดของ Samsung Galaxy Z Fold 5
กดดูโปรโมชั่นล่าสุด กล้อง GoPro Camera HERO 11 Black

กดดูโปรโมชั่นล่าสุด โทรศัพท์ iPhone 14 Apple iPhone 14 Pro Max
